นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน

นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน
นิทานพื้นบ้าน ที่พบในภาคอีสาน มีมากมายหลายร้อยเรื่อง ซึ่งเมื่อแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ จะได้ ๒ ประเภท (ความคิดเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าเอง) ดังนี้นิทานวรรณคดี เป็น นิทานขนาดค่อนข้างยาว ถึงยาว ซึ่งมีผู้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือจารลงใบลาน โดยมาก มักแต่งเป็นคำกลอนอีสาน ซึ่งบางครั้งเมื่อนำมาเล่าใหม่ นิยมเรียบเรียงใหม่เป็นร้อยแก้ว เพื่อให้อ่านง่ายนิทานประเภทวรรณคดีนี้ มีวิธีถ่ายทอดสู่ชาวบ้าน ๓ วิธีใหญ่ ๆ คือ
พระภิกษุสามเณร นำมาเทศน์ในงานบุญออกพรรษา โดยแต่ละปีจะมีการกำหนดว่า ออกพรรษาปีนี้ จะเทศน์เรื่องอะไร ซึ่งแต่ละวัด จะมีหนังสือใบลานวรรณคดีนิทานเรื่องต่างๆ เก็บไว้ พอถึงงานบุญออกพรรษา ก็จะเตรียมหนังสือใบลานนิทานเรื่องนั้นๆ ไว้ สำหรับพระภิกษุสามเณร ทั้งวัดนั้น ทั้งวัดอื่นๆ เวียนสลับมาอ่าน(เทศน์) ให้พ่อออก แม่ออกฟัง จนหนังสือหมดผูก หรือนิทานจบ
นักปราชญ์ผู้สามารถในการแต่งกลอนลำ นำไปแต่งเป็นกลอนลำ แล้วให้หมอลำเป็นผู้ถ่ายทอด เล่าเรื่องราวนิทานนั้นๆ เช่นหมอลำพื้น (มีคนลำเพียงหนึ่งคน ทำหน้าที่เป็นตัวละครทั้งหมด ใช้เสียง ผ้า และเครื่องแต่งกายประกอบการแสดง) หมอลำเรื่องต่อกลอน เป็นต้น
คนเฒ่าคนแก่ (ซึ่งได้ฟังลำ หรือได้ฟังเทศน์จากพระ หรือผู้ที่สึกจากพระ) นำมาเล่าให้คนอื่นๆ ฟัง ให้เด็กๆ ฟัง ในตอนเย็นหลังกินข้าว
นิทาน ประเภทวรรณคดีนี้ โดยมาก เป็นเรื่องราวทางจินตนาการ หรือเป็นเรื่องแต่ง แต่อาจมีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง เช่น ขูลูนางอั้ว ผาแดงนางไอ่ กำพร้าไก่แก้ว บักหูดสามเปา เป็นต้น
นิทานก้อม เป็น นิทานขนาดสั้น กะทัดรัด ซึ่งลักษณะพิเศษของนิทานก้อมคือ มีมุขตลก มุขขำขัน อยู่ในตอนท้ายเรื่อง ซึ่งเมื่อเล่าถึงจุดขำขัน หรือจุดปล่อยมุข นิทานก็จบเรื่อง หรือจบตอน นิทานก้อมนี้ ไม่ค่อยมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร มักจะถ่ายทอดโดยวิธีเล่าสู่กันฟัง ซึ่งสถานการณ์ ที่อำนวยให้เล่านิทานก้อมก็คือ เมื่อมีการรวมกลุ่ม หรือชุมนุมกัน เช่น หลังกินข้าวตอนเย็น ลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นต้น นิทาน ก้อม โดยมาก ต้นเค้าหรือที่มา มักจะมาจากเรื่องจริง ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน แต่ที่เป็นเรื่องแต่งหรือคิดขึ้นเอง ก็คงมีบ้างเช่นกัน ตัวอย่างนิทานที่เข้าข่ายเป็นนิทานก้อม เช่น พ่อเฒ่ากับลูกเขย หลวงพ่อกับเณรน้อย เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://variety.siam55.com/data/6/0030-1.html

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น