บ้านของคนอีสาน

บ้านของคนอีสาน

คนอีสานส่วนใหญ่จะมีวิถีชีวิตประจำวันที่เรียบง่ายไม่หวือหวาอะไร เวลาส่วนใหญ่จะหมดไปกับท้องทุ่งในฤดูทำนา หรือหมดไปกับการหาปลาในหน้าที่ปลาชุกชุม ด้วยเหตุที่ชาวอีสานส่วนใหญ่จะออกไปทำงานตามไร่นาหรือหาอาหารนอกบ้าน ไม่ค่อยมีเวลามาพิถีพิถันกับบ้านเรือนมากนัก สภาพบ้านเรือนของชาวอีสานจึงมีความเรียบง่ายแต่ก็มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ชาวอีสานส่วนหนึ่งโดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่นิยมที่จะอยู่ในกระท่อมริมทุ่งนามากกว่าที่จะมาอยู่ในหมู่บ้าน ทั้งนี้เพราะความสงบเงียบและอากาศที่เย็นสบายของท้องทุ่งช่างเหมาะแก่การพักผ่อนยิ่งนัก ในปัจจุบันชาวอีสานจำนวนมากสร้างบ้านหลังใหญ่โตตามวัฒนธรรมสมัยใหม่ บ้านส่วนใหญ่สร้างจากอิฐและปูน(และไม้บ้าง)โดยมุงหลังคาด้วยสังกะสีหรือกระเบื้อง ผิดกับในอดีตที่บรรพบุรุษชาวอีสานนิยมสร้างบ้านด้วยไม้ชนิดต่างๆ โดยเฉพาะไม้ไผ่ที่นำมาทุบให้แตกแล้วเอาสร้างบ้านทั้งเป็นผนังบ้านและเป็นพื้นบ้านด้วยแล้วมุงหลังคาด้วยหญ้าแฝก หรือใบตองที่นำมาสานกับรางไม้ไผ่ ซึ่งทุกวันนี้เราสามารถหาดูบ้านที่มีรูปแบบเช่นนี้ได้เฉพาะในชนบทที่ห่างไกล หรือตามงานเทศกาลตามจังหวัดต่างๆที่จะมีการนำบ้านแบบดั้งเดิมมาจัดแสดงให้ผู้คนรุ่นหลังๆได้ชมกัน สาเหตุที่ทำให้บ้านแบบดั้งเดิมของชาวอีสานแทบจะหายไปจากภาคอีสาน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะหาไม้จะมาสร้างบ้านได้ยากกว่าในอดีต และบ้านแบบดั้งเดิมก็ไม่ค่อยมีความทนทานต่อสภาพอากาศมากนัก ส่วนกระท่อมที่มักจะเรียกกันว่ากระท่อมปลายนา(ชาวอีสานเรียกเถียงนาน้อย)ยังคงหาดูได้ทั่วไปทุกจังหวัดในภาคอีสาน (หากท่านขับรถไปตามถนนในภาคอีสานท่านจะต้องได้เห็นกระท่อมปลายนาของชาวอีสานแน่นอน) แต่ชาวนาไม่ได้นอนในกระท่อมปลายนาเหมือนในอดีตแล้ว ชาวนาจะใช้กระท่อมนี้เป็นที่หลบฝน รับประทานอาหาร ผักผ่อนช่วงสั้นๆ และเก็บวัสดุอุปกรณ์ในการทำนา หลังจากนั้นในตอนเย็นก็จะกลับไปพักยังบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านและกลับมาอีกครั้งในตอนเช้า เพื่อทำนา บางครั้งอาจจะนอนที่กระท่อมปลายนาบ้างก็เฉพาะพ่อบ้าน(เพื่อเฝ้าวัสดุอุปกรณ์และผลผลิตทางการเกษตร)ส่วนแม่บ้านและลูกๆจะนอนที่บ้านในหมู่บ้าน
ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://student.nu.ac.th/isannu/isanculture/konisanindex.htm

คนอีสาน

คนอีสาน

ภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ เพราะมีพรมแดนอยู่ติดกับหลายชาติอีกทั้งมีการอพยพของประชาชนจากถิ่นอื่นๆทั้งในและนอกประเทศมาตั้งรกรากอยู่ภาคอีสานเป็นเวลานาน บวกกับประชากรที่อาศัยอยู่เดิมที่ก็มีความหลากหลายมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษแล้ว ทำให้ยิ่งมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ประชากรที่ของภาคอีสานมีหลายเผ่าพันธุ์ ที่มีมากที่สุดก็คงเป็นชาวไทอีสาน คือชาวคนอีสานที่พบได้ทั่วไป(ในอดีตคงหมายถึงชาวอีสานที่อาศัยอยู่ในเมืองหรือชุมชนใหญ่ๆ--ผู้เขียน) และพบมากที่สุดในภาคอีสานเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินอีสาน ชาวผู้ไทเดิมมาจากคำว่า พุไท หรือ วุไท ซึ่งหมาย ถึงคนเผ่าไทกลุ่มหนึ่งที่มีอยู่ในแคว้นสิบสอง วุไท และอาณาจักรล้านช้างมีการเคลื่อนย้ายเข้ามาในภาคอีสานหลายครั้งและจากที่ต่าง ๆกันและแยกย้ายกันไปอาศัยอยู่ในส่วนต่างๆของพื้นดินอีสาน(ส่วนใหญ่เป็นอีสานตะวันออก) แถบจังหวัดสกลนคร นครพนม(ที่เด่นมากคือ ผู้ไทเรณู) และจังหวัดมุกดาหาร และชาวอีสานเผ่าอื่นๆอีกมากมายที่พบในเขตภาคอีสานซึ่งมีวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองที่น่าสนใจเป็นอย่างยี่ง

ขอขอบคุณข้อมูล จาก http://student.nu.ac.th/isannu/isanculture/konisanindex.htm

ภาคอีสาน

ภาคอีสาน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือที่นิยมเรียกกันจนติดปากว่า ภาคอีสาน เป็นภูมิภาคที่มีความโดดเด่น มีความหลากหลายทั้งทางด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ด้วยขนาดของภูมิภาคที่กินพื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของพื้นแผ่นดินไทย จึงทำให้ภูมิภาคแห่งนี้มีจำนวนประชากรมากที่สุดในประเทศและมีความหลากหลายของเชื้อชาติประชากรอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้นยังเป็นภูมิภาคที่มีปัญหาในด้านต่าง ๆ มากที่สุด เช่น ปัญหาความแห้งแล้ง ความยากจน การอพยพย้ายถิ่นของประชากรเพื่อหางานทำ ปัจจุบันปัญหาต่างๆได้รับการแก้ไขไปบ้างแล้วทำให้ภาคอีสานทุกวันนี้มีความเจริญเท่าเทียมกับภาคอื่นๆ
ประชากรในภาคอีสานส่วนใหญ่พูดภาษาไทยสำเนียงอีสานซึ่งมีความแตกต่างกันด้านสำเนียงในแต่ละท้องที่ หรือพูดภาษาท้องถิ่นของตนเองที่มีมากมายหลายภาษา แต่ประชากรส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวในปัจจุบันสามารถพูดสำเนียงไทยภาคกลางได้เป็นอย่างดี ประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของตนคือหญิงมักจะนุ่งผ้าซิ่นทอ ด้วยฝ้ายมีเชิงคลุมเลยเข่าไปเล็กน้อย สวมเสื้อแขนสั้น ผู้สูงอายุมักตัดผมสั้นไว้จอน ส่วนผู้ชายไม่ค่อยมีรูปแบบที่แน่นอนนัก แต่มักนุ่งกางเกงมีขาครึ่งน่องหรือนุ่งโสร่งผ้าไหม อย่างไรก็ตามเครื่องแต่งกายดังกล่าวจะพบน้อยลง ในปัจจุบันประชากร วัยหนุ่มสาวจะแต่งกายตามสมัยนิยมอย่างที่พบเห็นในที่อื่น ๆ ของประเทศ แต่ก็สามารถหาชมการแต่งกายของชาวอีสานแบบดั้งเดิมได้ตามหมู่บ้านในชนบท ซึ่งประชากรส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ยังคงแต่งกายแบบดั้งเดิม อาชีพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือการเพาะปลูก พืชที่สำคัญคือ ข้าว มันสำปะหลัง ปอ ข้าวโพด ภาคนี้มีพื้นที่ทำนามากกว่าภาคอื่น ๆ แต่ผลิตผลที่ได้ต่ำ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://student.nu.ac.th/isannu/province/index.htm

ประเพณีอีสาน

ประเพณีอีสาน


ประเพณีของชาวอีสานมีความหลากหลายและมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ประเพณีส่วนใหญ่จะเกิดจากความเชื่อ ค่านิยม และสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของคนในท้องถิ่น และอิทธิพลของศาสนาที่มีต่อคนในท้องถิ่น ประเพณีต่างๆถูกจัดขึ้นเพื่อให้เกิดขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพและเพื่อถ่ายทอดแนวความคิด ค่านิยมที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร เกิดจากการที่คนในท้องถิ่นนี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร เชื่อว่าการจุดบั้งไฟจะทำให้ผญาแถนดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ประเพณีไหลเรือไฟ จังหวัดนครพนม เพราะจังหวัดนี้ติดแม่น้ำโขงและใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงมาตลอด จึงอยากขอบคุณพระแม่คงคาประจำลำน้ำโขงที่ได้ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่สังคมริมฝั่งโขง ดังนั้นจึงจัดประเพณีไหลเรือไฟขึ้นมา
งานบุญงานประเพณีต่างๆที่ชาวอีสานในท้องถิ่นต่างๆจัดขึ้นนับว่าเป็นสื่อที่ดีในการถ่ายถอดแนวความ ค่านิยม ความเชื่อ ศาสนา วิถีการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพของผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ
ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://student.nu.ac.th/isannu/isanculture/festividx.htm

ศิลปะอีสาน

ศิลปะอีสาน


ศิลปะของชาวอีสานมีพัฒนาการมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ดังจะเห็นได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆที่ค้นพบ ไม่ว่าจะเป็นที่อุทยานประวัติศาสตร์บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี หรือถ้ำผ่ามือแดง จังหวัดมุกดาหาร ฯลฯ (ซึ่งบางแห่งเชื่อกันว่ามีความเก่าแก่ที่สุดในโลก) ล้วนแสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษของชาวอีสานรู้จักใช้งานศิลปะพวกภาพและสัญลักษณ์ต่างๆเป็นตัวสื่อความหมายมาเป็นเวลานาน และยังรู้จักเลือกใช้สีและวัสดุที่มีความคงทนสามารถทนต่อสภาพดินฝ้าอากาศและการกัดกร่อนได้เป็นอย่างดีตราบถึงปัจจุบัน ที่ยังคงบอกเรื่องราวการดำเนินชีวิตของบรรพบุรุษของชาวอีสานยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี ซึ่งนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์หลายท่านพยายามศึกษาว่าคนยุคก่อนประวัติศาสตร์เหล่านี้ใช้สีที่ทำมาจากอะไรจึงสามารถคงทนได้นานเช่นนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถไขข้อสงสัยนี้ได้ เชื่อว่าในอนาคตไม่ช้านี้คงจะสามารถค้นพบความจริงที่เก็บซ่อนมาเป็นเวลายาวนาน และเมื่อถึงเวลานั้นเราอาจจะหันกลับไปใช้กรมวิธีเช่นเดียวกับที่บรรพบุรุษของเราเคยใช้ หลังจากที่เราใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มานาน นอกจากนี้การสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยก็นับเป็นหนึ่งในศิลปะที่ชาวอีสานภาคภูมิใจ บ้านเรือนของชาวอีสานสร้างสถาปัตยกรรมที่ได้รับการถ่ายทอดมาจาดรุ่นบรรพบุรุษ เริ่มจากเถียงนาน้อย ค่อยๆกลายมาเป็นบ้านไม้ที่มีความคงทนถาวร จนในปัจจุบันเป็นบ้านก่ออิฐถือปูนเป็นส่วนใหญ่แต่ก็ยังมีบ้านเรือนเป็นจำนวนมากที่ยังคงอนุรักษ์รูปแบบสถาปัตยกรรมอีสานโบราณไว้เป็นอย่างดี
สถานที่ที่เราจะสามารถชมศิลปะแบบอีสานได้ดีที่สุดคือตามศาสนสถานวัดวาอารามต่าง ซึ่งถือเป็นศูนย์รวมในการทำกิจกรรมต่างๆของผู้คนในชุมชนมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล วัดวาอารามต่างๆล้วนได้รับการดูแลรักษาจากพระสงฆ์และคนในชุมชนเป็นอย่างดี ทำให้เป็นแหล่งสืบสานศิลปะอีสานที่มีมาแต่โบราณจนตราบถึงปัจจุบันยุคที่ผู้คนชาวอีสานเริ่มลืมศิลปะที่ดีงามของตัวเองไปแล้ว
-ขอบคุณข้อมูลจาก http://student.nu.ac.th/isannu/isanculture/cultureindex.htm-

ศิลปวัฒนธรรมประเพณีอีสาน

ศิลปวัฒนธรรมประเพณีอีสาน


ภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรมและประเพณี แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นแต่ละจังหวัด ศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นตัวบ่งบอกถึงความเชื่อ ค่านิยม ศาสนาและรูปแบบการดำเนินชีวิตตลอดจนอาชีพของคนในท้องถิ่นนั้นๆได้เป็นอย่างดี สาเหตุที่ภาคอีสานมีความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรมประเพณีส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจาก การเป็นศูนย์รวมของประชากรหลากหลายเชื้อชาติ และมีการติดต่อสังสรรค์กับประชาชนในประเทศใกล้เคียง จนก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมขึ้น เช่น ประชาชนชาวอีสานแถบจังหวัดเลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศลาว ประชาชนของทั้งสองประเทศมีการเดินทางไปมาหากัน ทำให้เกิดการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมและประเพณีระหว่างกัน ซึ่งเราจะพบว่าชาวไทยอีสานและชาวลาวแถบลุ่มแม่น้ำโขงมีศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่คล้ายๆกัน และรูปแบบการดำเนินชีวิตก็มีความคล้ายคลึงกันด้วย รวมทั้งชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาในช่วงสงครามเวียดนาม ก็ได้นำเอาศิลปวัฒนธรรมของเวียดนามเข้ามาด้วย ถึงแม้ปัจจุบันชาวเวียดนามเหล่านี้จะได้ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมของท้องถิ่นอีสาน (เพื่อให้การดำรงชีวิตเป็นไปอย่างราบรื่น) โดยเฉพาะชาวเวียดนามที่เป็นวัยรุ่นในปัจจุบันได้รับการศึกษาที่ดีเหมือนกับชาวไทยทุกประการ จนแทบแยกไม่ออกว่าเป็นคนไทยอีสานหรือคนเวียดนามกันแน่ ส่วนใหญ่ก็จะเห่อวัฒนธรรมตะวันตก(เหมือนเด็กวัยรุ่นของไทย)จนลืมวัฒนธรรมอันดีงามของตัวเอง แต่ก็ยังมีชาวเวียดนามบางกลุ่มส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุยังคงยึดมั่นกับวัฒนธรรมของตนเองอยู่อย่างมั่นคง ท่านสามรถศึกษารูปแบบการดำเนินชีวิตแบบเวียดนามได้ตามชุมชนชาวเวียดนามในจังหวัดที่กล่าวมาแล้ว ส่วนประชาชนที่อยู่ทางจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา มีการติดต่อกันกับประชาชนชาวกัมพูชาก็จะรับเอาวัฒนธรรมของกัมพูชามาประยุกต์ใช้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ววัฒนธรรมประเพณีของคนทั้งสองเชื้อชาติก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่แล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวัฒนธรรมต่างๆ ก็มีความแตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่นและแตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆของไทยอย่างเห็นได้ชัด ทั้งวัฒนธรรมทางด้านการดำรงชีวิตและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ซึ่งเราสามารถสังเกตรูปแบบวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวอีสานผ่านทางประเพณีต่างๆที่ชาวอีสานจัดขึ้นซึ่งสามารถถ่ายทอดวัฒนธรรมอีสานได้เป็นอย่างดี

ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://student.nu.ac.th/isannu/isanculture/cultureindex.htm

My แผน